จากเหตุการณ์ COVID-19 มีการ Lock down และมีข่าวคนเจ็บ คนตายทั่วโลกเป็นจำนวนล้าน เกิดภาวะว่างงาน ขาดเงิน ขาดรายได้ แบบฉับพลัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นปัจจุบัน ไม่เคยประสบมาก่อน ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงตั้งแต่ปานกลางถึงมากตามประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งทำให้เกิดอาการทางจิตสังคมหลายแบบ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า แต่มีโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างรุนแรง ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder)
โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD)
หมายถึง ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง หรือเป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับคนอื่น หรือเรียนรู้เหตุการณ์ความรุนแรงหรืออุบัติเหตุที่เกิดกับบุคคลใกล้ชิด หรือรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่รุนแรงนั้นซ้ำๆ จนทำให้เกิดความกลัว (Fear) ความหวาดหวั่นอย่างรุนแรง (Horror) และรู้สึกหมดหนทางช่วยเหลือ (Helplessness) และรบกวนการดำเนินชีวิต การเรียนหรือการทำงาน
อาจพบได้หลังประสบเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกข่มขืน ถูกทรมาน ในกรณี COVID-19 ซึ่งทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ทั้งการทำงาน อาชีพ รายได้ แบบทันทีทันใด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง โดยอาจเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้อื่น หรือได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดกับคนใกล้ตัวก็ได้
โรคนี้มีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิต และการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการปรับตัวลดลงและเกิดความสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพ ความสูญเสียด้านจิตใจโดยทั่วไปยากจะฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก และการฟื้นตัวอาจใช้เวลานาน
หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีผู้ที่รอดจากการประสบเหตุการณ์ร้ายแรงมีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชอื่น ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder), โรค Panic disorder, โรค Generalized anxiety disorder และโรคการใช้สารเสพติด (Substance use disorder) หรือสุรา เป็นต้น ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ถูกต้องอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เป็นการซ้ำเติมทางจิตใจ (Re-traumatization) แพทย์จึงควรมีความรู้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงและส่งต่อผู้ป่วย
อาการและอาการแสดง
หลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ถ้ามีอาการ 3 วันขึ้นไปแต่หายไปภายใน 1 เดือนแรกจัดเป็นโรคเครียดเฉียบพลัน (Acute stress disorder; ASD) แต่ถ้านานกว่า 1 เดือนแล้วยังมีอาการอยู่ หรืออาการเกิดหลังจากนั้นจัดเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder; PTSD) โดยอาการที่สำคัญมีดังนี้
-
รู้สึกเหมือนเผชิญเหตุการณ์นั้นอีก (Re-experience) คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ตกใจขึ้นมาเองเหมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกเมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น เสียงดัง ฝันร้ายว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัวรุนแรงโดยอาจไม่มีเหตุกระตุ้น (Flashback) แล้วเกิดอาการทางร่างกายที่แสดงความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก สับสน อาการอาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมตน ทุกข์ทรมานใจมาก กลัวว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีก จึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่ทำให้เกิดอาการ
-
พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้น (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่ประสบ หวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งเร้านั้นๆ อาการกลัวนี้ทำให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการคิดถึง หรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น
-
มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิดและการรับรู้ เช่น อาการเมินเฉย แปลกแยก ไร้อารมณ์ (Dissociation)รู้สึกสิ่งแวดล้อมแปลกไป (Derealization) หรือตนเองแปลกไปจากเดิม (Depersonalization) จำเหตุการณ์สำคัญนั้นไม่ได้ (Dissociative amnesia) ไม่รับรู้สิ่งรอบตัว
-
มีอาการตื่นตัวมากเกินปกติ (Hyperarousal) กลัวเหตุการณ์นั้น วิตกกังวลง่าย กังวล แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ คิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ อาจมีอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ ไม่สามารถควบคุมตนเอง ความกังวลอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดตามมา เช่น การพลัดหลง การเผชิญสถานการณ์ตามลำพัง ความกลัวจากการสูญเสีย การค้นหาผู้รอดชีวิต ความกลัวต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังวุ่นวายสับสน หรือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัวจากเหตุการณ์นั้นอีก
เครดิตรูปภาพ: Caio Triana